Microphone ep.2 : Dynamic Microphone...The world's Toughest Mic.

Dynamic Microphone

         จากรูปด้านข้างนี้....ใช่ครับ นี่แหละ Dynamic Microphone ทุกคนน่าจะเคยเห็นไมค์ตัวนี้นะครับ ไม่ว่าจะในคาราโอเกะ เวที ห้องประชุม คอนเสิร์ต ไมค์ตัวนี้คือชื่อ SM 58 ครับ ยี่ห้อ Shure เป็น Dynamic Microphone ที่มียอดขายสูงที่สุดและทนทานที่สุด!!

 คำถามแรกๆที่คนชอบถามเลยคือ ทำไมถึงชื่อไดนามิค ไมโครโฟน??

ชื่อ Dynamic Microphone มีที่มาจากผลการทำงานของมัน ที่เป็น Dynamic Relationship หรือความสัมพันธ์ของความดังที่เท่ากัน (Amplitude) ระหว่าง Input และ Output...งงละสิ พูดง่ายๆว่า ความดังขาเข้า = ความดังขาออก....ได้ไง?....งั้นเรามาทำความรู้จักมันอย่างละเอียดกันเลยดีกว่า


จากที่ได้เขียนไว้ในโพสต์ที่แล้วว่า Dynamic Microphone จัดอยู่ในประเภท Electromagnetic Induction หรือการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กไฟฟ้า....แล้ว....มันคืออะไรเนี่ย???


Electromagnetic Induction หรือการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กไฟฟ้า เกิดจากตัวนำไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างแม่เหล็ก 2 ขั้ว(สนามแม่เหล็ก) เมื่อใดก็ตามที่มีแรงมาทำให้ตัวนำไฟฟ้าขยับก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า จากกฎ Lorentz Force เรื่องของ Electromagnetic Induction ที่ว่า F = qE + qU x B

เดี๋ยวๆๆๆๆๆ สมการอะไรวะเนี่ยยยยยย !!! 

ไม่ต้องกลัวนะครับ มันไม่มีอะไรน่ากลัวขนาดนั้น แค่จำไว้ว่า 

F คือ แรงที่มากระทำกับตัวนำไฟฟ้า 
qE คือ กระแสไฟฟ้า 
qU x B คือ สนามแม่เหล็ก 

         ถ้ามีสนามแม่เหล็กและมีแรงมากระทำกับตัวนำไฟฟ้า ย่อมมีกระแสไฟฟ้า เท่านั้นเองครับ 
ทีนี้กลับมาเรื่องของ Dynamic Microphone ของเราได้แล้วนะครับ จากที่บอกว่า Dynamic Microphone ใช้หลักการ Electromagnetic Induction แสดงว่า มันต้องมีแม่เหล็ก และตัวนำไฟฟ้าอะไรสักอย่างนึงสินะ...ใช่แล้วครับ สำหรับ ใน Capsule (แคปซูนหรือที่เรียกกันบ้านๆว่าหัวไมค์) ของ Dynamic Microphone จะมี Diaphragm ที่คอยรับการสั่นสะเทือน, มีขดลวดที่คอยเป็นตัวนำไฟฟ้าและมีแม่เหล็ก...

เอ้ะ Diaphragm ??? มันคืออะไร??

Diaphragm อ่านว่า ไดอาแฟรม คือ ส่วนที่มีหน้าที่ขยับ(สั่น)ในปริมาณที่เท่ากับแรงที่มากระทำ (Sound Pressure Level) ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึง เสียง นั่นเอง นั่นแหละคือปัจจัยสำคัญในการแปลงจากพลังงานเสียง (แรงสั่นสะเทือนของโมเลกุลในอากาศ)​ ไปสู่พลังงานไฟฟ้าได้

ทีนี้…เมื่อเสียงเข้ามายังไมโครโฟน ทำให้ไดอาแฟรมและขดลวดสั่นในสนามแม่เหล็ก จึงเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น อย่างไรก็ตาม กระแสไฟฟ้าที่ได้เป็นแค่ mV (มิลลิโวลต์)  ซึ่งมันยังไม่มากพอ(ที่เราจะเอาไปใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น Mixer หรือ Outboard gear ต่างๆ เราจึงต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า Mic. Pre-amplifier หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า Pre-amp นั่นเอง 

สำหรับเรื่อง Pre-amp ผมขอเก็บไว้พูดในโอกาสหน้านะครับ แต่สำหรับตอนนี้สมมติว่าเราสามารถใช้ Dynamic Microphone ได้แล้ว คำถามที่ตามมาคือ...แล้วใช้กับอะไร? ใช้อัดอะไรถึงจะดี ?

ก่อนอื่นเลย ผมอยากจะให้ทุกคนจำคำนี้เอาไว้นะครับว่า จริงๆแล้วการอัดเสียง ไม่มีกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ สถานที่ที่อัด งบประมาณ จุดประสงค์ เวลาที่มี แต่แน่นอน มีคนที่ทำการทดลองและมีประสบการณ์มากกว่า ได้ค้นหาวิธีที่ทำให้ได้เสียงที่ดีอยู่แล้ว เราจะต้องพูดใหม่ว่า การอัดเสียงไม่มีกฎตายตัว แต่มีคำแนะนำที่จะทำให้คุณได้ผลดีเกือบทุกครั้งที่ทำ (หลังจากนั้น จะไปทดลองอะไรก็ได้ คุณอาจจะได้เสียงที่ดีกว่า แต่ 90 % ของการทดลองของคุณ เสียงมันอาจจะออกมาห่วยแตก) อย่างไรก็ตาม การอัดเสียงต้องคำนึงถึงหลายๆอย่าง และคำแนะนำที่ว่านั้น ก็ไม่สามารถใช้ได้เสมอไปหรอก 

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือการประยุกต์ใช้ความรู้ทั้งหมดที่มี คิดคำนวณและวางแผนเป็นอย่างดี และก็ลงมือทำ!!! เราจึงควรที่จะรู้ลักษณะของ Dynamic Microphone ซะก่อน

Performance Characteristics

1. Dynamic Microphone ขึ้นชื่อเรื่องความทนทานที่สุด เพราะทำจากขดลวดที่พันกันอย่างแน่นหนา ไม่มีอะไรบอบบาง และไม่มีวงจรไฟฟ้าอะไรที่ซับซ้อน

ลองดูในคลิปวิดีโอนี้ดูนะครับ ว่ามันทนขนาดไหน !!


2. Low Self Noise เนื่องจากไม่มีวงจรไฟฟ้าอะไรมากมาย จึงทำให้มันมีเสียงรบกวนในตัวไมโครโฟนที่ต่ำมากๆ

3. Slowest Transient Response เนื่องจากมีขดลวดที่พันกันอย่างแน่นหนา ทำให้การขยับ จะช้าตามแรงที่มากระทำจะหน่วงไปนิดนึง เราเรียกมันว่า ซึ่งแม้ว่าDynamic Microphone จะช้าที่สุด แต่นั่น เป็นได้ทางข้อดีและข้อเสีย 

4. ทิศทางการรับเสียงจะแคบ จึงเหมาะกับอัดอะไรที่อยู่ใกล้ๆมากกว่าไกลๆ เช่นในกรณีที่ต้องการอัดเสียงนักร้องที่เล่นกีตาร์ไปด้วย เราสามารถใช้ไมค์ไดนามิคตัวนึงสำหรับอัดเสียงร้องและอีกตัวนึงสำหรับอัดเสียงกีตาร์ ซึ่งการใช้ไมค์ที่มีทิศทางการรับเสียงแคบจะป้องกันหรือลดไม่ให้เสียงอื่นล้นเข้ามา ในกรณีนี้หมายถึงเสียงนักร้องจะไม่ล้นเข้าไมค์ของกีตาร์และเสียงกีตาร์จะไม่ล้นเข้าไมค์ของนักร้อง

5. ส่วนใหญ่ราคาถูก (ขอเน้นคำว่าส่วนใหญ่)

จากลักษณะของมัน ไมค์ชนิดนี้จึงมีการใช้อย่างแพร่หลาย เพราะมัน ถูกและทนนั่นเอง

ในด้านการใช้อัดเสียง Dynamic Microphone นิยมที่จะนำไปใช้ในการอัดกลองชุด เช่น Kick Drum, Snare, Tom (แต่ไม่นิยมใช้เป็น overhead ให้กลอง) สามารถใช้อัดที่หน้าตู้แอมป์ได้ ทั้งกีตาร์และเบส ใช้อัดเสียงร้องก็ได้(ดีในระดับนึง) แต่ถ้าเป็นเพลงร็อคก็ควรใช้ Dynamic เพราะมันทนต่อเสียงดังๆได้

แต่ !!!! ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะใช้อัดอะไร ไม่ได้ดูกันแค่ประเภทหรอกนะ สิ่งที่สำคัญของการเลือกไมโครโฟน ยังต้องคำนึงอีก 3 อย่างหลักๆ

1. Frequency Response หรือ การตอบสนองต่อความถี่ในย่านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ไมค์ AKG D112 เหมาะสำหรับการอัด Kick Drum (กระเดื่อง) เพราะสามารถตอบสนองต่อความถี่ในย่าน Low ได้ดี ถามว่าถ้าจะให้เอา AKG D112 ไปอัดเสียงไวโอลินได้มั้ย?? …. ตำรวจไม่จับครับ แต่ชาวบ้านเค้าไม่ทำกัน เพราะมันอาจทำให้เสียงไวโอลินแพงๆ กลายเป็น ไวโอลินตัวละ 2,500 ก็เป็นได้! 

2. Polar Pattern หรือทิศทางการรับเสียง เช่น Shure SM 57 มีทิศทางการรับเสียงเป็น Uni-directional หรือ Cardioid (รับเสียงทางเดียวและสำหรับ Dynamic Mic. มันรับได้ไม่กว้าง) นิยมใช้เป็นไมค์สำหรับ Snare เพราะมันมีความหน่วงเล็กน้อย(ในความหมายที่ดี)แถมยังสามารถ Focus กับเสียงได้ ถามว่าจะให้เอาไปเป็นไมค์ Overhead (ตั้งไว้สูงกว่าหัว) เพื่อจับเสียงกลองชุดทั้งหมดได้ไหม?? …. ตำรวจไม่จับครับ แต่เสียงที่ได้มันจะเป็นเสียงของเครื่องที่ยู่ใกล้ไมค์ที่สุดมากกว่า นั่นคือ Hi-hat และแน่นอน...มันผิดจุดประสงค์ !


3. ราคา เรื่องนี้สำคัญมากครับ เพราะไมโครโฟนที่ดีเป็นมาตรฐานย่อมมีราคาสูง เราไม่สามารถซื้อไมค์ทุกตัวบนโลกนี้ได้ และแน่นอน มันทำให้ เรามีขีดจำกัดในการทำงาน แต่นั้นแหละ คือความท้าทายของ Sound Guys อย่างพวกเรา เพราะเราใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดในการใช้ไมค์ที่เรามีอยู่(หรือมีงบพอที่จะซื้อ)ในการทำงานออกมาให้ได้เสียงที่ดีที่สุด

เป็นไงกันบ้างครับ ไม่หนักเกินไปใช่ไหมครับ สำหรับใครที่มีข้อสงสัยหรืออยากแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็สามารถ Comment กันมาได้เลยนะครับ ในครั้งหน้าเราจะมารู้จักเพื่อนร่วมตระกูล Electromagnatic Induction ของ Dynamic Micriophone กันนะครับ

ขอบคุณรูปสวยๆของ sweetwater.com และ หนังสือ Modern recording techniques 7th Edition - D. Huber, R Runstein

ไว้พบกันใหม่นะครับ ขอบคุณที่ติดตามเรา Horse Power Production ครับ :)


by Sound Guy

No comments:

Post a Comment