Microphone ep.3 : Ribbon Microphone...บอบบางอย่างมีสไตล์



        จากรูป คิดว่าบางคนน่าจะเคยเห็น แต่คงไม่คุ้นตาเท่ากับ Dynamic Microphone นะครับ เพราะนี่คือ R44C ของ AEA เป็น Ribbon Microphone ซึ่งเกิดผลิตขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1931 (ช่วงก่อนยุคสงครามโลก) ซึ่งเริ่มใช้ในสถานีวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อประกาศข่าวความเป็นความตายของคนบนโลกในแต่ละวัน ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมดนตรีจนถึงปัจจุบัน

        ในโพสต์ที่แล้ว ที่ติดค้างกันไว้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Ribbon Microphone กันนะครับ ถ้าจะบอกว่า Dynamic Microphone เป็นไมค์ที่ทนทานที่สุด Ribbon ก็คงจะเป็นไมค์ที่บอบบางที่สุด ทำไมนะเหรอ? ลองมาดูกันเลย



        จากที่บอกไปว่า Ribbon Microphone เป็นญาติกับ Dynamic Microphone เพราะมีหลักการทำงานแบบเดียวกัน นั่นคือ Electromagnetic Induction หรือ การเหนี่ยวนำของแม่เหล็กไฟฟ้า... กลับมาทวนกันนิดนึงนะครับ จาก กฎ Lorentz Force ที่ว่า F = qE+qU x B อธิบายง่ายๆว่า ถ้ามีสนามแม่เหล็กและมีแรงมากระทำกับตัวนำไฟฟ้า ย่อมเกิดกระแสไฟฟ้า

   



        ใน Ribbon Microphone จะมีแม่เหล็ก 2 ขั้ว อยู่ตรงข้ามกัน เพื่อสร้างสนามแม่เหล็ก แต่ในคราวนี้ ตัวนำไฟฟ้า ไม่ใช่ขดลวดแบบ Dynamic Microphone แต่เป็นแผ่น Ribbon ทำมาจากอะลูมิเนียม ที่บางโคตรๆ บางกว่าเส้นผม หลาย 10 เท่า ! อยู่ระหว่างแม่เหล็กทั้ง 2 ขั้ว (ความบางขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่น ยกตัวอย่างเช่น R44C ของ AEA แผ่นริบบอนหนาแค่ 1.8 micron ในขณะที่เส้นผมเราหนาประมาณ 40 micron! ) เนื่องจาก Ribbon Microphone ใช้แผ่นอะลูมิเนียมบางๆขึงระหว่างแม่เหล็กทั้ง 2 ขั้ว มันจึงรับเสียงจากทางด้านข้างได้เท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า Side Address ในขณะที่ Dynamic Microphone มีทั้งแบบที่เป็น Front Address (หรือบางคนก็เรียก Top Address) รับเสียงด้านหน้า และ แบบที่เป็น Side Address รับเสียงด้านข้าง 
แผ่นริบบอนนี้จะมีหน้าที่เป็นทั้งตัวนำไฟฟ้าและ Diaphragm (ส่วนที่ขยับตามพลังงานเสียงที่เข้ามากระทำ) ต่างจาก Dynamic Microphone ที่ Diaphragm กับตัวนำไฟฟ้าเป็นคนละส่วนกัน และเช่นเคย เมื่อตัวนำไฟฟ้าขยับในสนามแม่เหล็ก ก็จะเกิดการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กไฟฟ้า และเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นมานั่นเอง แต่ทว่า เนื่องจากแผ่นริบบอนมันบางมากๆ ขยับแรงๆ ก็ขาด กระแสไฟฟ้าที่ได้จึงน้อยโคตรๆ ทำให้ริบบอนต้องอาศัย External Pre-amp เพื่อเพิ่มกระแสไฟฟ้าก่อนที่จะเข้าไปในภาค Input ของ Mixer แต่ต่อมา ก็มีคนใส่วงจรที่เรียกว่า Impedance Conversion Amplifier เข้าไปข้างในไมค์ เป็นเหมือน Internal Pre-amp เพื่อที่จะไม่ต้องใช้ Pre-amp แยกต่างหาก เพียงแค่ส่ง Phantom Power เข้าไปเลี้ยงในวงจรเท่านั้นเอง 

เดี๋ยวๆๆๆ แล้ว Phantom Power มันคืออะไร !????เอาเป็นว่า มันคือไฟฟ้ากระแสตรง(DC) 48 โวลต์ที่ส่งมาจาก Mixer หรือ Pre-amp นั่นเอง โอกาสหน้าจะมาอธิบายเพิ่มเติมนะครับ 

ปัจจุบัน Ribbon Microphone แบ่งเป็น 2 แบบ คือ


1. Passive Ribbon Microphone ต้องใช้ External Pre-amp เพื่อเพิ่มกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าไปในภาค Input แต่ห้ามใช้ Phantom Power (จากภาพด้านข้างนี้ คือ R101 ของ Royer เป็น Passive Ribbon Microphone)









2. Active Ribbon Microphone ไม่จำเป็นต้องใช้ External Pre-amp แต่ต้องใช้ Phantom Power ในการส่งกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยง Impedance Conversion Amplifier 
ซึ่งประโยชน์ของมันคือจะได้กระแสไฟฟ้ามากกว่า Passive Ribbon นั่นเอง
(จากภาพ ด้านข้างนี้คือ R122 ของ Royer เป็น Active Ribbon Microphone)






บางคนเข้าใจว่า ถ้าส่ง Phantom Power ให้ Passive Ribbon Microphone จะทำให้พัง ?!


        จริงๆแล้วก็ไม่ใช่แบบนั้นนะครับ ตราบใดที่เสียบกับสายสัญญาณแล้วจึงค่อยส่ง Phantom Power และสายสัญญาณมีคุณภาพ มีการบัดกรีมาอย่างดี Phantom Power ที่ส่งไปก็จะไม่ทำอันตรายใดๆกับไมค์ หากแต่ว่า ถ้าเปิด Phantom Power เอาไว้ก่อนที่จะเสียบ Ribbon Mic. กับสายสัญญาณ หรือ สายสัญญาณคุณภาพต่ำ บัดกรีมาไม่ดี ในสายเกิดมีเศษเสี้ยวของสายสัญญาณที่บิดเบี้ยวออกมาแตะกับ Shield ทำให้ Phantom Power เดินไปในส่วนที่ไม่ควรจะไป ผลของมันคือ พังครับ! ไม่ว่าคุณจะซื้อมาแพงแค่ไหน พลาดแค่วินาทีเดียว ก็พังได้ครับ 
       
        เพราะฉะนั้น เราจึงควรระวังเรื่องการใช้ Phantom Power  กับ Passive Ribbon Microphone มากๆครับ ถ้าไม่ใช้ได้จะดีที่สุด แต่ถ้าจำเป็น (กรณีที่เจอ Pre-amp ที่ไม่สามารถแยกส่ง Phantom Power ได้ และจำเป็นต้องส่ง Phantom Power ให้กับไมค์ตัวอื่น) ก็อย่าลืมว่า สายต้องดี และ เสียบก่อนส่ง Phantom Power เท่านั้นนะครับ 



เนื่องจาก Ribbon Microphone เป็นไมค์ที่โคตรจะบอบบาง เราจึงต้องดูแลมันเป็นพิเศษ ด้วยวิธีเหล่านี้


1. ห้ามวางกับพื้น ไม่ใช่แค่เราจะเดินเหยียบหรือเดินเตะนะ แต่อย่าลืมว่าใน Capsule ของ Ribbon Microphone มีแม่เหล็กอยู่ มันสามารถที่จะดูดพวกโลหะเล็กๆที่เรามองไม่เห็นขึ้นมาได้ 
2. ห้ามวางตะแคง ต้องวางในลักษณะตรงตลอดเวลา เพราะแผ่นริบบอนจะหย่อนเนื่องจากแรงดึงดูดโลก ทำให้เสียงเพี้ยนไป
3. ห้ามเป่าลมใส่ไมค์ เวลาที่ใช้อัดเสียงร้องหรือเครื่องเป่า ควรใช้ Pop Filter เพราะอาจทำให้แผ่นริบบอนมันขาดได้ 

พูดถึงการลองไมค์ (ไม่ใช่แค่ริบบอน)
        พวกที่ลองไมค์ไม่เป็นนี่ ตัวดีเลยครับ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไมค์พัง....อย่าเป่าไมค์ ! เพราะลมคือศัตรูของ Diaphragm...อย่าตบไมค์ เพราะมันสะเทือนกับโครงสร้างข้างใน ถ้าลองเสียงโดยการพูดได้ ให้พูด จะเช็คๆๆ หรือ จะร้องเพลงอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าต้องลองโดยให้เกิดเสียงน้อยที่สุดแนะนำให้เอานิ้วเกาหรือลูบเบาๆที่ Capsule นะครับ (สำหรับวิธีเกาไมค์นี้ โดยทั่วไป ถ้าเป็นในสตูดิโอดีๆที่ใช้ ไมค์แพงๆ เราจะไม่ได้แตะไมค์อยู่แล้ว การลองไมค์ในกรณีนี้พูดถึงงานทั่วๆไป ที่ใช้แค่ Dynamic Microphone ถูกๆทนๆ เท่านั้นนะครับ)


กลับมาเรื่องของ Ribbon Microphone ทำไมมันบอบบางขนาดนี้ แต่เรายังใช้มันอยู่ล่ะ ??


       คำตอบคือมันให้เสียงที่อุ่นและมี Character ไม่เหมือนใครนั่นเอง ส่วนใหญ่ ใช้สำหรับอัดเสียงร้องหรือไม่ก็ใช้อัด Room Mic. (จับเสียงจากระยะไกลของเครื่องดนตรีแล้วเอามาผสมกับเสียงระยะใกล้เพื่อให้ได้มิติและความสมจริง) ไม่นิยมอัดเสียงดังๆ เพราะมันบอบบางมากๆ อาจจะทำให้ Diaphragm ขาดได้

        ตอนนี้ ได้คำตอบกันแล้วนะครับ ว่า Dynamic กับ Ribbon ต่างกันยังไง เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ผมขอสรุปให้อีกทีนะครับ

1. Dynamic ใช้ขดลวด Ribbon ใช้แผ่นอะลูมิเนียมบางๆ
2. Dynamic ทนที่สุด Ribbon บอบบางที่สุด
3. Dynamic ได้กระแสเยอะกว่า Ribbon
4. Dynamic อัดเสียงดังๆ ได้ดีกว่า Ribbon ในทางกลับกัน Ribbon ก็อัดเสียงเบาๆ ได้ดีกว่า Dynamic  เพราะ ถ้ามีพลังงานน้อยๆ (เสียงเบา) เข้ามา แผ่นอะลูมิเนียมย่อมสั่นได้ง่ายกว่าและเยอะกว่าขดลวดที่พันกันอย่างแน่นหนา
5. ทิศทางการรับเสียงของ Ribbon จะเป็น Side Address ได้เท่านั้น (รับเสียงด้านข้าง) ในขณะที่ Dynamic  มีทั้งแบบที่เป็น Front และ Side Address

         จากที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ก็พอจะเป็นไอเดียให้คุณผู้อ่านได้นำไปปรับใช้ในการเลือกไมโครโฟนนะครับ อย่างที่บอกว่า มันไม่มีกฎอะไรตายตัว ขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์และรสนิยมที่ดี (บวกกับงบประมาณ) ในครั้งหน้า เราจะมาทำความรู้จักกับไมโครโฟนอีกชนิดนึง นั่นคือ Condensor Microphone กันนะครับ สำหรับครั้งนี้ใครที่มีข้อสงสัยหรืออยากแสดงความคิดเห็นใดๆ สามารถ Comment กันมาได้เลยครับ

ขอขอบคุณรูปสวยๆของ www.sweetwater.com , www.recordinghacks.com , www.wired.com  และ หนังสือ Modern recording techniques 7th Edition - D. Huber, R Runstein

ขอบคุณที่ติดตามพวกเรา Horse Power Production ครับ :)

By Sound Guy

No comments:

Post a Comment